top of page

ขั้นตอนของการทำโมเดลกระดาษ (papercraft)

ในการทำโมเดลกระดาษโดยทั่วๆไป จะมีขั้นตอนคล้ายๆกันคือเริ่มต้นจากการพิมพ์แบบออกมาก่อน ในส่วนของการพิมพ์แบบนี้ จะแบ่งออกเป็นสองแบบ คือการพิมพ์หน้าเดียว กับการพิมพ์แบบหน้าหลัง

การพิมพ์แบบสำหรับทำโมเดลกระดาษ

ในขั้นตอนของการพิมพ์ ถ้าหากว่าโมเดลนั้นมีแบบเป็นไฟล์ที่พิมพ์ได้เลย อย่างเช่นไฟล์ PDF ก็สามารถสั่งพิมพ์ออกมาได้ทันที หรือถ้ามีไฟล์เป็นลักษณะ .PDO มาให้ ก็สามารถใช้โปรแกรมPepakura เพื่อเปิดอ่านไฟล์แล้วก็พิมพ์จากโปรแกรมได้ครับ ปกติแล้วสำหรับแบบการทำโมเดลกระดาษที่ผมโพสให้ จะมีไฟล์ PDF ให้สำหรับสามารถโหลดเอาไปพิมพ์เองได้ ไฟล์ PDF จะมีสองอย่าง คือไฟล์สำหรับพิมพ์แบบหน้าเดียว กับไฟล์สำหรับพิมพ์แบบสองหน้า ในกรณีที่เป็นไฟล์แบบพิมพ์หน้าเดียว ลายเส้นกำหนดรอยตัด และเส้นกำหนดการพับ จะทับอยู่บนลายของกระดาษไปเลย การพิมพ์โมเดลแบบนี้ จะทำได้เหมือนกับการพิมพ์กระดาษทั่วๆไป ไม่ต้องตั้งค่าอะไรเป็นพิเศษ แต่มีข้อเสียคือลายเส้นต่างๆ จะอยู่บนสีที่ผิวด้านนอกของกระดาษ ทำให้เมื่อเวลาทำเสร็จออกมาแล้ว ก็จะยังคงเห็นรอยเส้นพวกนี้อยู่ ส่วนการพิมพ์อีกวิธีหนึ่ง คือการพิมพ์แบบสองหน้า การพิมพ์แบบนี้จะเป็นการพิมพ์สีไว้ที่ด้านหนึ่งของกระดาษ แล้วก็พิมพ์เส้นแสดงรอยพับและรอยตัด ไว้อีกด้านหนึ่ง ทำให้เมื่อทำโมเดลออกมาแล้ว จะไม่เห็นเส้นพวกนี้ ซึ่งจะได้โมเดลที่สวยกว่า แต่ในการพิมพ์ออกมา จะต้องใช้เครื่องพิมพ์ที่รองรับการพิมพ์สองหน้าได้ ซึ่งให้ตั้งเครื่องพิมพ์เป็นการพิมพ์แบบ Duplex แต่ถ้าไม่มีเครื่องพิมพ์ที่พิมพ์สองหน้าได้แบบอัตโนมัติ หรือทำไม่เป็น ก็พิมพ์มาทีละหน้าแล้วเอากระดาษกลับทางกันเอง เพื่อเอาแผ่นเดิมกลับไปพิมพ์ลายทางด้านหลังของแผ่นนั้นๆได้ รูปแบบการพิมพ์นี้จะขึ้นกับเครื่องพิมพ์แต่ละเครื่องครับ อันนี้คงต้องไปศึกษาคู่มือเครื่องพิมพ์ที่ใช้กันเอาเอง ส่วนการตั้งค่าของเครื่องพิมพ์ ควรตั้งเป็นความละเอียดเดียวกันกับการพิมพ์รูปถ่าย หรือตั้งให้ตรงกับชนิดของกระดาษที่ใช้ครับ

เราควรใช้กระดาษแบบใหนในการทำโมเดลกระดาษ

ปกติการทำโมเดลจะสามารถเลือกใช้กระดาษได้หลายแบบ ขึ้นอยู่กับความชอบ หรือความเหมาะสมกับโมเดลตัวนั้น กระดาษที่ใช้อาจจะแบ่งเป็นสองแบบคือกระดาษสำหรับเครื่องพิมพ์ (อิงค์เจ็ต หรือ เลเซอร์) กับกระดาษการ์ดธรรมดา (หรือกระดาษปก) สำหรับกระดาษการ์ด จะเป็นกระดาษเนื้อธรรมดา แต่จะมีความหนาต่างๆกัน ซึ่งความหนาของกระดาษไม่มีระบุไว้ แต่จะมีการเรียกแทนด้วยน้ำหนักของกระดาษซึ่งจะเรียกเป็น grams ปกติแล้วยิ่งมีค่า grams มาก ก็จะยิ่งหนา (แต่เนื่องจากค่า grams คือน้ำหนัก ดังนั้นบางทีค่า grams มากอาจจะไม่หนาก็ได้ แต่เนื้อกระดาษอาจจะแน่นแทน) แต่ยังไงก็ตามการเลือกกระดาษที่มีค่า grams สูงๆ ก็จะทำให้โมเดลกระดาษที่ได้มีความแข็งแรงมากขึ้น แต่ก็จะตัดยากขึ้น พับยากขึ้น และในบางชนิด อาจจะทำให้มีโอกาศหักง่ายขึ้นด้วยครับ การเลือกกระดาษปกติแล้วควรใช้กระดาษตั้งแต่ 160 grams ขึ้นไป ถึงจะสามารถเอามาทำได้โดยกระดาษไม่งอง่ายๆ แต่ก็ไม่ควรใช้กระดาษที่หนักเกินกว่า 260 grams เพราะจะทำให้ตัดและประกอบยากเกินไป รวมทั้งกระดาษมักจะหนา และความหนาของกระดาษจะทำให้ประกอบออกมาแล้วเห็นขอบขาว ไม่สวยเท่ากระดาษที่บาง

ส่วนกระดาษอีกชนิดหนึ่งจะเป็นกระดาษอิงค์เจ็ต ซึ่งออกแบบมาใช้กับการพิมพ์ กระดาษชนิดนี้เนื้อกระดาษจะมีความละเอียดและแสดงสีได้ชัดกว่ากระดาษการ์ดธรรมดา กระดาษอิงค์เจ็ตก็จะมีหลายแบบ คือ กระดาษอิงค์เจ็ตธรรมดา กระดาษการ์ดอิงค์เจ็ต และกระดาษโฟโต้อิงค์เจ็ต ทั้งสามแบบนั้นก็จะมีแบบที่เป็นกระดาษด้าน กระดาษมัน และกระดาษกึ่งด้านกึ่งมัน รวมผสมกันได้เป็น 9 ชนิด (ได้แก่ กระดาษอิงค์เจ็ตธรรมดาแบบด้าน แบบมัน แบบกึ่งด้านกึ่งมัน กระดาษการ์ดอิงค์เจ็ตแบบด้าน แบบมัน และแบบกึ่งด้านกึ่งมัน กระดาษโฟโต้อิงค์เจ็ตแบบด้าน แบบมัน และแบบกึ่งด้านกึ่งมัน) กระดาษอิงค์เจ็ตธรรมดานั้นก็จะเป็นกระดาษที่คุณภาพดีขึ้น น้ำหนักกระดาษมีตั้งแต่ 80 – 240 grams สำหรับกระดาษโฟโต้ จะเป็นกระดาษที่มีแบบที่กันน้ำได้ หรือแบบที่รองรับการพิมพ์แบบละเอียดเป็นพิเศษ ซึ่งก็จะมีราคาแพงขึ้นตามไปด้วย ส่วนกระดาษการ์ดอิงค์เจ็ตจะเป็นกระดาษการ์ด ซึ่งมีความหนาต่างๆกันและแข็งแรงขึ้นเหมือนกระดาษการ์ดธรรมดา แต่ถูกทำให้สามารถรองรับงานพิมพ์ผ่านเครื่องอิงค์เจ็ตที่ความละเอียดมากขึ้นได้ กระดาษเหล่านี้ที่เป็นอิงค์เจ็ต ก็จะมีชนิดที่เป็นกระดาษเลเซอร์ด้วย ซึ่งออกแบบมาสำหรับเครื่องพิมพ์เลเซอร์

ปกติการทำโมเดลกระดาษ เรามักจะใช้กระดาษการ์ด จะใช้เป็นกระดาษการ์ดธรรมดา หรือกระดาษการ์ดอิงค์เจ็ตก็ได้ เพราะจะมีน้ำหนักกระดาษให้เลือกหลายอย่าง ตั้งแต่ 80 – 400 grams ขึ้นกับยี่ห้อของกระดาษ และนอกจากนั้นยังมีแบบที่อัดลายต่างๆ อย่างเช่นอัดลายผ้า ลายลินิน หรือลายเส้นอลูมิเนียม ให้เลือกใช้ด้วย แต่โดยสรุปแล้ว กระดาษทั้งหมดนั้นสามารถใช้ทำโมเดลกระดาษได้ทุกแบบ เพียงแต่ควรจะเลือกใช้ความหนาอย่างน้อยๆ 160 grams และไม่ควรใช้เกิน 260 grams หรือตามที่แนะนำเอาไว้ในแต่ละโมเดล ส่วนจะใช้ชนิดใหนนั้น ขึ้นกับความชอบครับ เพราะเมื่อทำออกมาแล้วจะมีข้อแตกต่างคือ กระดาษยิ่งบางก็จะยิ่งทำโมเดลออกมาได้สวยมากขึ้น เพราะว่าจะไม่เห็นขอบกระดาษหนาเท่ากระดาษหนาๆ แต่จะทำออกมาได้ยากขึ้น รวมทั้งบอบบางมากกว่ากระดาษหนาๆ ความแตกต่างที่เห็นได้ชัดอีกอย่างหนึ่งคือเรื่องของการใช้กระดาษเคลือบมัน หรือกระดาษเคลือบด้าน สำหรับกระดาษเคลือบด้านจะไม่ต่างกับกระดาษการ์ดธรรมดา แต่ถ้าเคลือบมันจะมีความแตกต่างอยู่บ้าง กรณีที่เป็นกระดาษเคลือบมัน เนื้อกระดาษจะเป็นมัน บางคนอาจจะชอบ แต่มีข้อเสียคือกระดาษจะเห็นตำหนิของขอบกระดาษง่ายกว่า รวมทั้งจะมองเห็นตำหนิกระดาษในส่วนที่งอต่างๆได้ง่ายกว่าด้วย

จากรูปเป็นตัวอย่างของกระดาษชนิดต่างๆกัน อันที่อยู่ซ้ายล่าง จะเป็นกระดาษเคลือบมัน ส่วนอันอื่นเป็นกระดาษการ์ดที่ความหนาต่างๆกัน

กระดาษเคลือบมันจะให้ผิวที่เป็นมันเงา และให้สีที่เข้มกว่ากระดาษเคลือบด้าน หรือกระดาษการ์ดแบบไม่เคลือบ แต่มีข้อเสียคือรอยตำหนิต่างๆจะเห็นได้ง่ายกว่า

การใช้กระดาษการ์ดแบบเคลือบด้าน จะได้สีที่คมและมีคุณภาพสูงกว่ากระดาษการ์ดแบบไม่เคลือบ แต่ความแตกต่างไม่มากเท่าไหร่ แนะนำให้คนที่ต่อโมเดลจนชำนาญแล้วค่อยใช้ครับ เพราะถ้ายังต่อไม่ค่อยเก่ง กระดาษดีกว่าก็ช่วยอะไรไม่ได้เท่าไหร่ ^_^

Featured Posts
Recent Posts
Follow Us

    © 2023 by Artist Corner. Proudly created with Wix.com

    จนวันสุดท้ายSqweez Animal
    00:00
    • 1371442993-36a8413664340ee60bf8cbda5657b267
    • YouTube - White Circle
    • Facebook - White Circle
    • Blogger - White Circle
    bottom of page